วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

วงจรชีวิตของผึ้ง


                                                    วงจรชีวิตของผึ้ง


ผึ้งเป็นสัตว์สังคมที่มีการจัดระเบียบและมีความสะอาดมาก ผึ้งไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวเป็นระยะเวลานาน โดยขาดความสัมพันธ์กับผึ้งวรรณะอื่นภายในสังคมเดียวกัน ผึ้งมีระบบสังคมมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ล้านปี ผึ้งแต่ละรังเปรียบเสมือนหนึ่งครอบครัว ผึ้งที่เลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมโดยทั่วไปนิยมเลี้ยงผึ้งพันธุ์ Apis mellifera  ซึ่งประกอบด้วย ผึ้ง 3 วรรณะ คือ
ผึ้งนางพญา (The Queen)
ผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่ เป็นลักษณะเด่นที่ แยกได้ง่ายกว่าผึ้งตัวผู้ และผึ้งงาน มีลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ปีกของผึ้งนางพญาจะมีขนาดสั้น เมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว ส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะค่อนข้างเรียวยาว มีลักษณะคล้ายกับตัวต่อ ผึ้งนางพญามีการเคลื่อนไหวค่อนข้างเชื่องช้า ปกติจะมีวงจรชีวิต 1-2 ปี แต่บางตัวอาจมีอายุนานถึง 5 ปี ผึ้งนางพญาได้กินนมผึ้งตั้งแต่เป็นตัวอ่อนอายุ 1 วัน และได้กินต่อไปจนตลอดชีวิต นี้เป็นจุดแตกต่างที่ผึ้งนางพญาต่างจากผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้ มีการพัฒนาที่แตกต่างทั้งลักษณะทางกายภาพภายในภายนอกรวมไปถึงการทำหน้าที่ต่างกันด้วย ผึ้งนางพญามีหน้าที่ดังนี้
1. ผสมพันธุ์ ขยายพันธุ์ เมื่อายุได้ 3-5 วัน ก็จะออกไปผสมพันธุ์ โดยจะเลือกวันที่อากาศแจ่มใส และจะผสมพันธุ์กลางอากาศ ช่วงความสูงประมาณ 50-100 ฟุต การผสมพันธุ์ 1 ครั้งต่อตัวผู้
7-10 ตัว หรือบางครั้งอาจมากถึง 20 ตัวก็ได้ โดยมีระยะเวลาผสมพันธุ์ 10-30 นาที
2. วางไข่ได้ประมาณวันละ 1,500-2,000 ฟอง สามารถวางไข่ทุกวันได้ตลอดปี
3. ผึ้งนางพญาจะไม่มีการออกหาอาหาร ผึ้งนางพญาจะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยที่ผึ้งงานจะใช้หนวดแตะหรือใช้ลิ้นเลียตามตัวผึ้งนางพญา ผึ้งงานเหล่านี้ทำหน้าที่คอยให้อาหาร ทำความสะอาดและนำของเสียที่ผึ้งนางพญาขับถ่ายออกไปทิ้ง
ผึ้งตัวผู้ (The Drone)
มีขนาดใหญ่ ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้ไม่มีเหล็กใน มีลิ้นสั้นมาก  หาอาหารเองไม่ได้ แต่จะรับอาหารจากผึ้งงาน หรือ ดูดกินน้ำหวานจากในรวงเท่านั้น ผึ้งตัวผู้จะเจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม เมื่อตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้โตเต็มที่ ผึ้งงานก็จะมาปิดฝาหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ผึ้งตัวผู้ก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อครบกำหนดก็จะกัดไขผึ้งที่ปิดฝาออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุประมาณ 16 วัน พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ ผึ้งตัวผู้มีหน้าที่ผสมพันธุ์อย่างเดียว เมื่อหมดฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่มีโอกาสผสมพันธุ์จะถูกผึ้งงานปล่อยให้อดตายด้วย เราจะพบผึ้งตัวผู้ปรากฎในรังเฉพาะช่วยฤดูผสมพันธุ์เท่านั้น หลังจากผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาแล้ว ผึ้งตัวผู้จะตายทันที ปริมาณของผึ้งตัวผู้ภายในรังไม่แน่นอน อาจมีได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหลายพันตัวขึ้นกับฤดูกาล
ในการผสมพันธุ์พบว่า ผึ้งตัวผู้จากรังผึ้งต่าง ๆ ในปริมาณใกล้เคียงกันจะบินออกจากรังไปรวมกลุ่มกัน ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้ การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายในบริเวณนี้คือเมื่อมีผึ้งนางพญาสาวบินเข้ามาในบริเวณนี้ ผึ้งตัวผู้เป็นกลุ่มก็จะบินตอม ใช้เวลาประมาณ 3-5 วินาทีต่อผึ้งตัวผู้ 1 ตัว ในการผสมพันธุ์โดยเริ่มตั้งแต่ผึ้งตัวผู้บินติดตามนางพญาได้ทัน ก็จะใช้ขาเกาะติดกับนางพญาทางด้านหลัง แล้วก็จะออกแรงดันให้อวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งนางพญาแล้วผึ้งตัวผู้นั้นก็จะตกลงมาตาย โดยที่อวัยวะสืบพันธุ์ยังหลุดติดคาอยู่ที่ผึ้งนางพญา ถ้าตัวผู้ตัวไหนยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในวันนั้นจะบินกลับรัง เพื่อรอโอกาสในวันต่อไป ถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือผึ้งงานจะหยุดป้อนอาหารและตายไปในที่สุด
ผึ้งงาน (The Worker)
เป็นผึ้งเพศเมีย มีขนาดเล็กที่สุด เนื่องจากในระยะที่เป็นตัวอ่อนได้รับ อาหารพิเศษ คือ  นมผึ้ง หรือ รอยัลเยลลี (royal jelly) เพียง 3 วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนผึ้งงานที่มีอายุมากขึ้นจะได้กินแต่เกสรและน้ำผึ้ง ผึ้งงานจึงมีอายุสั้นเพียง 6-8 สัปดาห์ เท่านั้น  ผึ้งงานมีหน้าที่หลัก เช่น ทำความสะอาดรัง เลี้ยงดู ป้อนอาหารให้ผึ้งตัวอ่อน สร้างและซ่อมแซมรัง เป็นทหารเฝ้ารัง ป้องกันศัตรูและหาอาหาร ผึ้งงานต้องรับภาระดังกล่าวเท่ากันทุกตัว ไม่มีการเอาเปรียบแก่งแย่งกันหรือหลบงานเลย ทุกตัวรับผิดชอบงานของตนเองโดยไม่มีใครบังคับ ผึ้งงานจะมีอวัยวะพิเศษหลายอย่าง เพื่อที่จะปฏิบัติงานสำคัญ ๆ ภายในรังไข่ เช่น มีต่อมไขผึ้ง ตะกร้อเก็บเกสร ต่อมกลิ่น
ที่กล่าวมาข้างตนจะเห็นว่าผึ้งนั้นเป็นสัตว์ที่มีระบบการดำเนินชีวิตที่น่าสนใจมาก เป็นระบบระเบียบมีความสะอาด และมีการเลือกสรรแต่สิ่งที่ดีมีคุณค่าเท่านั้น มีการแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างชัดเจน  และยังมีการติดต่อสื่อสารกันภายในสังคมของผึ้ง ซึ่งเป็นผลการทำงานจาก อวัยวะพิเศษของผึ้ง ทำให้สังคมผึ้งนั้นสามารถดำรงอยู่ได้เป็น วงจรชีวิตของผึ้ง นั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น